วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ผลงานของฉินซือหวองตี้ 1




ภายหลังจากที่ฉินอ๋องอิ๋งเจิ้งสามารถรวบรวมประเทศได้แล้ว จึงได้สถาปนาพระองค์ขึ้นเป็น “ฉินซือหวองตี้” โดยการที่เปลี่ยนจากคำว่า “อ๋อง” มาเป็นคำว่า “หวองตี้” นั้น เกิดจากการที่พระองค์ทรงไว้ซึ่งคุณงามความดีใหญ่ยิ่งกว่ากษัตริย์องค์ใดในอดีตกาล และการรวมประเทศนี้เป็นการรวมกันอย่างชนิดที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน พระองค์จึงทรงเห็นว่า ตำแหน่งกษัตริย์ที่พระองค์ดำรงค์อยู่นั้น เล็กน้อยไปเสียแล้วสำหรับพระองค์ โดยที่พระองค์มีพระบัญชาให้เหล่าขุนนางพยามยามสรรหาชื่อเรียกพระองค์ให้ใหม่ แต่ก็ยังไม่เป็นที่พอพระทัย จนกระทั่งพระองค์คิดขึ้นมาเองเป็นคำว่า “ฉินซือหวองตี้” โดยที่แต่ละคำนั้นมีความหมายในตัวของมันเอง เริ่มตั้งแต่คำว่า “ฉิน” หรือที่คนไทยเรียกเพี้ยนว่า “จิ๋น” นั้นมีความหมายเป็นชื่อของราชวงศ์รวมทั้งเป็นชื่อของแผ่นดิน ส่วนคำว่า “ซือ” หรือที่คนไทยเรียกเพี้ยนว่า “ซี” นั้นมีความหมายว่า การเริ่มต้น ถัดมา เป็นคำว่า “หวองตี้” หรือคนไทยเรียกเพี้ยนไปเป็นคำว่า “ฮ่องเต้” เป็นการนำเอาคำเรียกสามกษัตริย์ผู้ใหญ่ยิ่งของบุพกาลคือ “ซานหวอง” (สามกษัตริย์) ได้แก่ เทียนหวอง (กษัตริย์สววค์) ตี้หวอง (กษัตริย์พิภพ) และเหรินหวอง (กษัตริย์มนุษย์) กับคำว่า “อู่ตี้” (ห้าจักรพรรดิ) ได้แก่ หวองตี้, จวนซวี่, ตี้คู่, เหยา และ ซุ่น ซึ่งจักรพรรดิทั้งห้าเป็นแบบฉบับของกษัตริย์ที่ทรงคุณงามความดีในอดีตเป็นที่ยกย่องกัน โดยทรงรวมคำว่า “หวอง” กับ “ตี้” เข้าด้วยกันเป็น “หวองตี้” แปลเป็นไทยพอจะเรียกได้ว่า “จักรพัตราธิราช” (ในที่นี้จะเรียกจักรพรรดิตามที่คนไทยเราคุ้นเคยกันอยู่แล้ว ทำนองเดียวกับคำว่า “หวองตี้” ตามสำเนียงฟุเจี้ยนซึ่งแปลเป็นอังกฤษว่า Emperor) 

สาเหตุของการเรียกชื่อที่เพี้ยนไปนั้นสันนิษฐานว่า เกิดจากการที่คนจีนที่อพยพมาอยู่ที่ประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นคนจีนแต้จิ๋ว ซึ่งภาษาพื้นบ้านจะเรียกเพี้ยนไปจากภาษาจีนกลาง จากชื่อ “ฉินซือหวองตี้” จึงเรียกเพี้ยนไปเป็น “จิ๋นซีฮ่องเต้” ซึ่งแท้ที่จริงแล้วเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์คนเดียวกัน ซึ่งการเรียกชื่อเพี้ยนไปนั้นไม่ได้เป็นการทำผิดแต่ประการใด เป็นเพียงแค่ความแตกต่างกันในด้านของภาษาเท่านั้น


การปฏิรูประบอบการปกครอง


ฉินซือหวองตี้ทรงยึดหลักปรัชญาการเมืองและการปกครองของหันเฟยจื่อ (หันเฟยจื่อและหลี่ซือ เป็นศิษย์ร่วมสำนักเดียวกัน โดยที่ทั้งสองคนได้เรียนหนังสือกับสวินจื่อ ซึ่งสวินจื่อก็เป็นศิษย์ของขงจื่อ หรือที่เรียกกันว่า “บัณฑิตหยู”) โดยที่หลักปรัชญาการเมืองของหันเฟยจื่อเรียกร้องให้กษัตริย์ทรงอำนาจสิทธิ์ขาด และนโยบายพัฒนาประเทศก็ถือหลักสร้างความมั่นคั่งทางเกษตรกรรมและความเข้มแข็งของทหาร อันเป็นนโยบายที่ผู้ปกครองแคว้นฉินทุกพระองค์พยายามดำเนินสืบต่อกันมาจนมาถึงฉินซือหวองตี้ และพระองค์ก็ทรงเห็นด้วยและนำมาปฏิบัติอย่างแข่งขันโดยตลอด ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อรวมอาณาจักรได้แล้วและฉินอ๋องอิ๋งเจิ้งก็ทรงใช้คำว่า “หวองตี้” สำหรับพระองค์แล้ว เมื่อมาถึงระบบอบการปกครอง ก็ปรากฎว่า เหล่าขุนนางผู้ใหญ่ทั้งหลายเห็นพ้องต้องกันในอันที่จะหวนกลับไปใช้ระบอบการปกครองของกษัตริย์ต้นราชวงศ์โจว โดยแต่งตั้งโอรส อนุชาและสมาชิกราชตระกูล ให้ออกไป “กินเมือง” อย่างในสมัยศักดินาของต้นราชวงศ์โจว กล่าวคือ โอรส อนุชาและสมาชิกราชตระกูลแต่ละพระองค์ ล้วนได้ไปมีอำนาจครอบครองที่ดินที่พระจักรพรรดิพระราชทาน เท่ากับเป็นอาณาจักรของตนที่เรียกว่า “ฟงกั๋ว” แต่ทั้งหมดนี้มีหลี่ซือขุนนางตำแหน่งเสนาบดีว่าการยุติธรรมผู้เดียวคัดค้าน โดยให้เหตุผลที่ว่า ถ้าแบ่งแยกอาณาจักรออกเป็นเขตแคว้นให้มีการแบ่งแยกการปกครองเช่นราชวงศ์โจวต่อไป เจ้าผู้ครองเขตแดนศักดินาก็จะเกิดการสู้รบกันเอง และตามที่เคยเป็นมา ภายหลังกษัตริย์ราชวงศ์โจวเองก็ไม่มีอำนาจอันใดที่จะไปห้ามปรามด้วย

ฉินซือหวองตี้ทรงเห็นชอบด้วยกับการรวมอำนาจไว้ส่วนกลาง กล่าวคือ ศูนย์กลางของการใช้อำนาจอยู่ที่องค์จักรพรรดิหรือฉินซือหวองตี้แต่ผู้เดียว ซึ่งโดยหลักการก็คือ รวมศูนย์อำนาจการปกครองระบอบอัตตาธิปไตยของจักรพรรดิ (Centralization) ขุนนางผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ ทหารและพลเรือนตลอดจนผู้ตรวจการ ล้วนแต่งตั้งและถอดถอนโดยองค์จักรพรรดิ ผู้ทรงอำนาจสูงสุด มีขุนนางชั้นผู้ใหญ่ที่ทรงไว้วางพระทัยช่วยเหลือในการบังคับบัญชา และถวายความคิดเห็นเป็นลำดับลดหลั่นกันลงไป ที่สำคัญที่สุดได้แก่ “เฉิงเซี่ยง” ซึ่งพอจะเรียกเป็นไทยว่า “สมุหนายก” ช่วยเหลือองค์จักรพรรดิในการบริหารทั่วทั้งอาณาจักร “ไทเว่ย” หรือสมุหกลาโหม รับผิดชอบในการทหารทั้งหมด “ยูสื่อ” ผู้ตรวจราชการ ที่มีหน้าที่ควบคุมดูแลขุนนางทุกชั้นทุกตำแหน่งตามลำดับ ฉินซือหวองตี้ทรงเห็นชอบความคิดของหลี่ซือ ที่เสนอให้มีกลไกการปกครองเป็นรูปพีรามิด โดยมีองค์จักรพรรดิอยู่สูงสุด แล้วจึงมีขุนนางใหญ่น้อยมียศศักดิ์และตำแหน่งต่างๆลดหลั่นกันลงมา ซึ่งเท่ากับว่าได้เป็นการสลายระบอบการปกครองแบบกระจายอำนาจ (Decentralization) ซึ่งเป็นการทำลายระบอบการปกครองของแต่ละรัฐที่เคยมีมาเดิมของกษัตริย์ราชวงศ์โจวตั้งแต่ต้นจนอวสาน ยิ่งกว่านี้ ตำแหน่งขุนนางที่รับราชการภายในดินแดนศักดินาแต่ละแห่ง ที่ล้วนเคยเป็นโดยสืบตระกูลกันมาก็เป็นอันยกเลิกหมด องค์จักรพรรดิทรงเป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนแต่ผู้เดียว และขุนนางที่ทำหน้าที่ปกครองแว่นแคว้น, เขต, อำเภอ ก็ต้องรับคำสั่งจากส่วนกลางหรือรัฐบาลกลางโดยตรงด้วย

เพื่อให้การปกครองทั่วทั้งอาณาจักรได้ดำเนินไปโดยมีประสิทธิภาพ ฉินซือหวองตี้จึงได้มีพระบรมราชโองการกำหนดให้ทั่วทั้งอาณาจักรใช้ภาษาหนังสือ, มาตราชั่ง ตวง วัด และเพลาล้อเกวียนเป็นมาตรฐานอย่างเดียวกันทั้งหมด เพราะก่อนหน้านี้ ต่างรัฐต่างใช้ของตน เฉพาะภาษาหนังสือคือตัวอักษรจีนนี้ การใช้พระบรมราชโองการ (ซึ่งแท้ที่จริงแล้วคือกฎหมายนั่นเอง) กาลเวลาล่วงมาจนถึงปัจจุบันก็ได้พิสูจน์ว่า เป็นคุณูปการใหญ่หลวงในการผูกพันคนจีนเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะอยู่ในท้องที่ใดๆ โดยที่สำเนียงพูดของคนจีนแตกต่างกันมากมาย เนื่องจากอาณาจักรมีเนื้อที่กว้างขวาง ผู้คนแต่ละท้องที่พูดสำเนียงแตกต่างกันเหมือนกับชาวต่างประเทศ แต่ก็สามารถสื่อความหมายโดยทำความเข้าใจกันได้ โดยใช้หนังสือที่เป็นมาตรฐานเดียวกันนี้ การใช้มาตราชั่ง ตวง วัด ที่เป็นมาตราฐานเดียวกัน ย่อมเป็นประโยชน์ใหญ่หลวงในทางค้าขาย เพราะทำให้สินค้าได้มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันโดยสะดวก โดยเฉพาะการใช้สื่อของการแลกเปลี่ยนอย่างเดียวกัน ซึ่งก็คือกำหนดให้ใช้เหรียญทองแดงวงกลมแบนเจาะรูสี่เหลี่ยมตรงกลาง เพื่อความสะดวกเวลาร้อยเป็นพวงเป็นจำนวนต่างๆ (วงกลมนั้นหมายถึงสวรรค์ ส่วนสี่เหลี่ยมนั้นหมายถึงโลกมนุษย์ซึ่งจะต้องมีขอบเขตในการปกครองบริหาร แต่ละคนมีหน้าที่ของตนเอง ต้องรู้จักทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จ เป็นไปตามหลักฮวงจุ้ย ฉินซือหวองตี้ทรงยึดหลักฮวงจุ้ยในการบริหารบ้านเมืองและการวางผังเมืองด้วย ซึ่งถือได้ว่าหลักฮวงจุ้ยนั้นได้เริ่มต้นใช้กันอย่างเป็นทางการและแพร่หลายในยุคสมัยของ ฉินซือหวองตี้ สมเด็จพระจักรพรรดิผู้นี้นี่เอง)

มาตรการที่ใช้ปราบปรามปรปักษ์ทางการเมืองที่เป็นศัตรูต่อจักรพรรดิฉินสื่อหวองตี้โดยเฉพาะก็ได้แก่การที่ทรงมีบัญชาให้นำเอาอาวุธทั้งหมด (ภายนอกกองทัพของพระองค์) มาไว้ที่เสียนหยางจากบรรดาคลังอาวุธของรัฐต่างๆในอดีต แล้วหลอมขึ้นเป็นระฆังสัมฤทธิ์และรูปปั้นหน้ามนุษย์ขนาดมหึมาถึง 12 รูปด้วยกัน โดยประดิษฐานไว้ ณ พระราชวังหลวง รูปปั้นสัมฤทธิ์นี้ แต่ละรูปปั้นมีน้ำหนักถึง 240,000 ชั่ง (หนึ่งชั่งมีน้ำหนักประมาณ 600 กรัม) เพื่อกำจัด “ผู้ที่ไม่น่าไว้วางใจ” ซึ่งได้แก่เจ้าขุนมูลนายที่มีฐานะมั่งคั่งของรัฐเก่าๆทั้งหลาย จึงได้มีบัญชาให้ครอบครัวของผู้มีฐานะเหนือคนธรรมดาเหล่านี้อพยพเข้ามาอยู่ในเสียนหยาง (เมืองหลวง) จากทั่วทั้งอาณาจักรมีจำนวนทั้งสิ้นถึง 120,000 ครัวเรือน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น